Menu Close

“นม”...แหล่งวิตามินดีที่สำคัญในสหรัฐอเมริกา

ผลการวิจัยชิ้นใหม่พบว่านมให้วิตามินดีครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมดที่ได้รับจากอาหารที่คนอเมริกันบริโภค วารสาร FASEB

จากผลการวิจัยชิ้นใหม่ที่นำเสนอในการประชุมชีววิทยาเชิงทดลอง (Experimental Biology Conference) ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองอนาไฮม์ (Anaheim) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่าสหรัฐอเมริกามีความต้องการวิตามินดีมากขึ้น นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ควรดื่มนมเพิ่มอีกสักแก้ว เพราะนมเป็นแหล่งวิตามินดีหลักในอาหารที่คนอเมริกันบริโภค โดยให้วิตามินดีเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณที่จำเป็นต่อร่างกาย

นักวิจัยได้นำฐานข้อมูลแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาล่าสุด (NHANES 2003-2006) เกี่ยวกับอาหารที่คนอเมริกันอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 16,000 คนบริโภค มาวิเคราะห์หาสัดส่วนว่าอาหารแต่ละกลุ่มส่งผลต่อปริมาณการได้รับวิตามินดีอย่างไร ซึ่งผลปรากฎว่าไม่มีอาหารชนิดใดให้วิตามินดีได้มากเท่ากับนม ทั้งนี้ สำหรับเด็กอายุระหว่าง 2-18 ปี นมให้วิตามินดีสูงราว 2 ใน 3 ส่วนของปริมาณทั้งหมดที่ได้รับจากอาหารเลยทีเดียว

“สารอาหารทดแทนแบบที่พบได้ในนมปราศจากไขมันหรือนมไขมันต่ำหนึ่งแก้วพบได้ไม่มากนักในอาหารประเภทอื่น หากไม่ดื่มนมร่วมกับอาหาร ก็ยากที่จะได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินดี” ดร.คีธ อะยูบ (Keith Ayoob) นักกำหนดอาหารวิชาชีพและผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสำหรับเด็ก กล่าว

ชาวอเมริกันจำนวนมากได้รับวิตามินดีไม่มากพอ และการขาดวิตามินดีอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เป็นที่ทราบดีว่าวิตามินดีมีบทบาทสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูก และปัจจุบันยังพบว่ามีบทบาทสำคัญอื่นๆ อีกมาก โดยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่พบว่าวิตามินดีอาจช่วยป้องกันโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งบางชนิดได้ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

แม้การเพิ่มระดับวิตามินดีมีแนวโน้มจะส่งผลดีต่อร่างกาย แต่คนอเมริกันในทุกช่วงอายุยังคงได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ระดับการขาดวิตามินดีในปัจจุบันส่งผลให้สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (The American Academy of Pediatrics) กำหนดปริมาณวิตามินดีที่เด็กและเยาวชนควรได้รับเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยทางสถาบันฯ ประเมินว่าราวครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันมีวิตามินดีอยู่ในระดับต่ำ

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้บริโภควิตามินดี 400 IU ต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับนมปราศจากไขมันหรือนมไขมันต่ำ 4 แก้ว

Keast DR, Fulgoni VL, Quann EE, Auestad N. Contributions of milk, dairy products, and other foods to vitamin D intakes in the U.S.: NHANES, 2003-2006. FASEB Journal. 2010;24:745.9.